อังคณา พุ่มผกา ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสมุทรสงคราม(สมุทรสงคราม นครปฐม สมุทรสาคร) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่ปลาทูเดินทางมาหากินในบริเวณปากอ่าวไทยที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นช่วงที่ปลาทูเติบโตเต็มที่หรือที่เรียกกันว่า “ปลาทูสาว” ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย และยังมีรสชาติอร่อย จนทำให้ “ปลาทูแม่กลอง” หรือปลาทูหน้างอคอหัก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว จังหวัดสมุทรสงคราม จึงร่วมกับหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมมือกันจัดงาน “เทศกาลกินปลาทู และของดีเมืองแม่กลอง จะจัดขึ้น ณ บริเวณรอบศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม และในบริเวณสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม โดยมีชื่อตอนว่า “กิน อยู่ พอเพียง”
ปลาทูสดทอด
ทั้งนี้ภายในงานมีการจำหน่ายเมนูอาหารที่ทำจากปลาทูอย่างหลากหลาย รับรองคุณภาพและความอร่อยโดยร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดสมุทรสงคราม โดย ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม ได้จัดทำคู่มือท่องเที่ยว “เส้นทางสายปลาทูแม่กลอง” เผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงาน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับวงจรชีวิตของปลาทูอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
และยังจัดให้มี ลานวิถีชุมชนคนแม่กลอง ที่นำเสนอสิ่งดีๆ อันทรงคุณค่าของชาวแม่กลองแก่สายตานักท่องเที่ยว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย “ลานชุมชนคนประมง” นักท่องเที่ยวจะได้ชมโป๊ะปลาทูจำลอง นิทรรศการปลาทูและปลาทูตัวเป็นๆ “ลานเสน่ห์แม่กลอง” นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวย่านสถานีรถไฟและตลาดแม่กลองในบรรยากาศย้อนอดีต และร่วมถ่ายรูปกับขบวนรถไฟจำลอง “ลานแกลอรี่” ปีนี้เสนอภาพถ่ายจากช่างภาพอิสระในหัวข้อ “มะพร้าวคือชีวิต” แบบดูไป อ่านไป คิดไป ยิ้มไป “ลานสุขภาพ” นำเสนอไลฟ์สไตล์ของคนสมัยใหม่ที่ต้องอยู่อย่างมีกึ๋น ในหัวข้อ “การบริโภคอย่างพอเพียง” “ลานพลพรรครักปลาทู” จากกลุ่มสาระในสวนและชมรมปลาทูคะนองแฟนคลับ ลานติดไม้ติดมือ จำหน่ายของที่ระลึกจากงาน โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปช่วยผู้ประสบอุทกภัย
ปลาทูนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีลานกิจกรรมดี ๆ อีกมากมาย อาทิ ลานดนตรียามเย็น ลานหนังแกล้มเล่า ลาน 111 ปีสมุทรสงคราม ลานจดหมายเหตุเมืองแม่กลอง เป็นต้น เชิญร่วมให้กำลังใจ ในกิจกรรมการประลองปรุงอาหาร “เมนูปลาทู หนูทำได้”
ผู้ที่สนใจมาเที่ยวงานสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม โทร. 0-3471-8154, 0-3471-8164 หรือ ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม โทร. 0-3475-2847-8
ปลาทูสด
มารู้จักกับปลาทูแม่กลอง บุคลิกภาพของปลาทูแม่กลอง
คนทั้งประเทศรู้จัก “ปลาทูแม่กลอง” ในรูปของปลาทูนึ่งในเข่งเล็ก หน้างอ คอหัก เนื้อขุ่น มัน หอม และมีรสชาติความอร่อยอันโดดเด่น เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสุดยอดปลาทูไทยหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับของดีแม่กลองอื่น ๆ อาทิ ลิ้นจี่ พริก หมาก พลู และปลากัดจากบางช้าง น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลสด ชมพู่สาแหรก ส้มโอขาวใหญ่ ฯลฯ
แม่ค้าขายปลาในทุกตลาดต่างก็ร้องบอกต่อลูกค้าของตนว่า “ปลาทูโป๊ะแม่กลอง” อันเป็นชื่อยี่ห้อ (BRAND NAME) ที่การันตีถึงคุณภาพและถิ่นกำเนิด โดยมิต้องการคำอธิบายประกอบ เหมือนเครื่องเบญจรงค์ “ปิ่นสุวรรณ” จากอัมพวา หรือสัญญลักษณ์ดาวสามแฉกของรถยนต์เมอร์ซิเดส เบ็นซ์ จาก เยอรมนี ปลาทูแม่กลอง มิใช่สักแต่ว่าเป็นปลาทู ศักดิ์ศรีของปลาทูแม่กลองคือความอร่อย มิใช่ฉายาที่จะมาหลอกลวงกันได้ หรือเข้าถึงแก่นแท้โดยรสนิยมหรือความรู้อย่างผิวเผินในระดับแมวบ้าน มันย่อมมีเหตุปัจจัยมีที่มาที่ไป
ปลาทูสดย่าง
ปลาทูแม่กลอง ที่คนไทยต่างถิ่นรู้จักและชื่นชมนั้น มิใช่เพราะบุคลิกภาพภายนอกที่เป็นปลาทูสั้น ท้องไม่แตก หากเป็นปลานึ่งก็อยู่ในเข่งเล็ก หน้างอ คอพับ และหากเป็นปลาทูสดตาจะดำสนิท ผิวพรรณสีสันสดใสแวววาว แต่นี่ก็เป็นแต่บุคลิกภาพภายนอก งามภายนอก ซึ่งก็ดีอยู่แต่ยังไม่เลิศ ความเลิศประเสริฐนั้น อยู่ที่ความดีงามภายใน คือ เนื้อขุ่นมัน หอม หวานด้วยตัวเอง
ธรรมชาติของอ่าวแม่กลอง ปลาทูธรรมดาตัวหนึ่งจะกลายมาเป็นปลาทูแม่กลองได้ ก็ต่อเมื่อได้เข้ามาอยู่ในอ่าวแม่กลอง ภายในแนวน้ำชนระหว่างน้ำจืดจากปากน้ำแม่กลอง ที่พุ่งออกไปปะทะกับน้ำทะเลบริเวณก้นอ่าวในรัศมีประมาณ 25 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ซึ่งมีความลึกเฉลี่ยไม่เกิน 15 เมตร เกิดเป็นระบบนิเวศน้ำกร่อย ปากแม่น้ำที่มีตะกอนเลน มีสารอาหาร คือ แพลงตอน ไรน้ำ อุดมในทุกอณูของหยดน้ำ ซึ่งระบบนิเวศสามน้ำหรือระบบนิเวศน้ำกร่อยนี้จะมีสารอาหารมาเติมความสมบูรณ์ให้ในช่วงน้ำหลากระหว่างเดือน 8 ถึงเดือน 11
แม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำที่มีตะกอนมากกว่าแม่น้ำทุกสายในประเทศไทย ทำให้บริเวณปากแม่น้ำเกิดเป็นดินดอนชายฝั่งมากมาย รวมทั้งดอนหอยหลอดที่มีอยู่หนึ่งเดียว เป็นทำเลเป็นสภาพทางภูมิศาสตร์จำเพาะที่ ที่ไม่มีแห่งใดเสมอเหมือนปลาทู และสัตว์ทะเลทุกชนิดก้นอ่าวแม่กลอง จะเปล่งศักยภาพความอร่อยขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าปลา กุ้ง หอย ปู และเคยตาดำ จากปลายเดือนกันยายนไปจนสิ้นหนาวเข้าฤดูวางไข่ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงปลาทูวางไข่) ปลาทูสั้นเหล่านี้มิใช่ทัวริสต์นักท่องเที่ยวหากถูกความสมบูรณ์ของอาหารที่ระบบนิเวศน้ำกร่อยปากแม่น้ำสร้างสรรค์ขึ้น ดึงดูดให้เข้ามาไม่ว่าปลาทูเล็กหรือใหญ่ เมื่อได้เข้ามาอาศัยในก้นอ่าวแม่กลองเป็นช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ได้ธาตุอาหารที่สมบูรณ์สุดขีดในช่วงนี้แล้ว ปลาทูสั้นเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนสภาพเนื้อที่ใสเป็นเส้นเป็นริ้ว ให้กลายเป็นเนื้อขุ่น มัน หอม และหวาน
วิธีการจับปลาที่ปราศจากความรุนแรง จากนั้นเครื่องมือประมงประจำที่ ที่เรียกว่า “โป๊ะ” ที่บรรพชนชาวแม่กลองผู้เข้าใจธรรมะของน้ำและลม และสัญชาตญาณของปลา ผู้คำนวณทิศทางกระแสไหลของน้ำ สภาพพื้นก้นอ่าวว่าตรงไหนเป็นดอน ตรงไหนเป็นหล่ม แล้วทำการกำหนดตำแหน่ง (การโคนโป๊ะ) ที่จะวางแนวปีกโป๊ะ ทิศทางที่ปลาทูสาว และเต็มสาวทั้งหลายได้ว่ายเลาะปีกเข้ามาให้ชาวประมงจับโดยละม่อม มิใช่ละม่อมโดยตำรวจ ทำให้สามารถจับได้โดยไม่ผิดตัว และปราศจากความรุนแรงในการจับ ทำให้ปลาไม่เครียด เนื้อหวานไม่แปรเปลี่ยนด้วยเหตุปัจจัย อันมาประชุมกันโดยพร้อมเพรียงสามัคคีเช่นนี้ ปลาทูที่ได้เข้ามาพำนักอาศัยในอาณาบริเวณนี้ได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงจะมีคุณสมบัติและรสชาติ และจึงจะใช้ชื่อและนามสกุลว่าเป็น “ปลาทูแม่กลอง” ได้ด้วยเหตุฉะนี้
ปลาทูนึ่งทอด
วิธีการกินปลาทูแม่กลอง แม้ว่าในเทศกาลหน้าหนาวทะเลจะมีคลื่นลมจัดขึ้นเพราะลมอุกาพัดจัด (ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) ทำให้จับปลายากขึ้น และราคาปลาสูงขึ้น แต่เพื่อให้ท่านลิ้มรสปลาทูในช่วงที่อร่อยที่สุดเป็น บุญลิ้น จังหวัดและหอการค้าจึงจำต้องจัดงานเทศกาลกินปลาทูในฤดูนี้ของทุกปี และส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายในการจัดงาน ก็ต้องตั้งให้เป็นค่าใช้จ่ายในการบนบานต่อเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรและอาม้า อันเป็นพระบิดาและเทพเจ้าที่เคารพนับถือของชาวประมง ได้โปรดดลบันดาลให้คลื่นลมสงบลงบ้าง พอให้ชาวประมง เมืองแม่กลองได้ปันเนื้อปลามาจัดงานเทศกาลกินปลาทู เพื่อรักษาชื่อเสียงของปลาทูแม่กลอง และอาหารทะเลก้นอ่าวนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ดำรงอาชีพนี้ไว้สืบไป เราต้องตั้งอกตั้งใจถึงเพียงนี้ จึงขอให้พากันเข้าใจและขอให้กินปลาทูแม่กลองในเทศกาลหน้าหนาวทั้งตัว ทั้งหัว ขอย้ำว่ากินทั้งตัวทั้งหัวไม่ใช่เฉพาะแต่ปลาทอด แม้ว่าเป็นปลาทูต้มก็ต้องรู้จักกินหัวด้วย โดยเคี้ยวหัวให้แหลกแล้วดูดซับความมันให้หมดจึงค่อยคาย นี่ก็คือต้องรู้ให้ครบถ้วน รู้จักจังหวะลีลาของธรรมชาติ รู้จักช่วงเวลาที่เหมาะสม รู้จักวิธีจับที่สอดคล้อง รู้จักวิธีปรุงโดยไม่ใส่เครื่องเครามากเกิน จนไปบดบังรสชาติที่แท้จริงของเนื้อปลา รู้จักวิธีการกินอย่างเข้าถึง ไม่ตกหล่น กินอย่างรู้คุณค่า…กินปลาทูแม่กลองให้แมวอาย…
ปลาทูโป๊ะเป็นสุดยอดความอร่อย เมนูขวัญใจของนักชิมปลาทูนั้นก็เพราะว่าไม่ต้องผ่านการดองน้ำแข็ง ปลาท้องไม่แตก...ไม่กี่นาทีจากปากอ่าวก็วิ่งเรือเข้ามาขายในฝั่งแล้ว แต่ปลาทูธรรมดาตัวหนึ่งจะกลายมาเป็นปลาทูแม่กลองได้ก็ต่อเมื่อเข้ามาอยู่ในอ่าวแม่กลอง ภายในแนวน้ำชนระหว่างน้ำจืดจากปากแม่น้ำแม่กลองซึ่งพุ่งออกมาปะทะกับน้ำทะเลบริเวณก้นอ่าวไทยในรัศมี 25 กิโลเมตรจากชายฝั่ง มีความลึกเฉลี่ยในช่วงน้ำลงสุดตัวไม่เกิน 15 เมตร (ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อน น้ำจืดจึงพุ่งไปไกลได้แค่ 7-8 กิโลเมตรเท่านั้น)
บริเวณนี้เป็นระบบนิเวศน้ำกร่อยปากแม่น้ำที่มีตะกอนเลน มีสารอาหาร, แพลงตอน, ไรน้ำอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะระหว่างเดือน 8 ถึงเดือน 11 ที่จะมีสารอาหารมาเติมความสมบูรณ์ในช่วงน้ำหลาก ในฤดูน้ำหลากนี้ ปลาทูวัยรุ่นหางเขียวที่เพิ่งหัดว่ายทวนลม หัวโต, ตัวผอม, หนังหนา, เนื้อแข็งจากปักษ์ใต้จะว่ายมารับสารอาหารและแร่ธาตุบริเวณอ่าวแม่กลอง กระทั่งโตเป็นปลาทูเต็มสาว หางเหลือง, ตัวอ้วน, สีสันสดใสสวยงาม, หนังบาง, เนื้อนุ่ม
และนั่นแหละมันได้ชื่อและนามสกุลว่าเป็น “ปลาทูแม่กลอง” แสนอร่อยแล้ว คนแม่กลองมีเทคนิคที่จะได้ปลาทูอร่อย ๆ มากิน ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อไม่ให้ปลาทูเครียด โดยใช้เครื่องมือประมงประจำถิ่นที่เรียกว่า “โป๊ะ” นั่นเอง
เทศกาลกินปลาทูมักจะจัดกันในเดือนธันวาคม
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
คุณสุรจิต ชิรเวทย์ (สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น