วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ถอดรหัสต่างชาติชอบงานหัตถกรรมไทย

                                         ผลงานหัตถกรรมไทยได้รับโอกาสไปแสดงในงาน International Handicraft Fair ครั้งที่ 76 ที่เมืองปลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

โดย..สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
       
       ไม่แปลกใจที่เมืองไทยเสนอวัฒนธรรมให้ออกสู่สายตาชาวต่างชาติน้อยกว่าที่ควร เพราะขนาดจะอนุรักษ์กันภายในประเทศ ยังเป็นเรื่องยาก อย่างสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็สะท้อนว่า วัฒนธรรมที่ดีงามของไทยเพี้ยนไปมากขนาดไหน ต่างจากต่างชาติที่พยายามอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนอย่างเต็มที่ และพยายามป้อนวัฒนธรรมเขาเข้ามาอยู่เสมอ อย่างประเทศเกาหลี ที่จัดหนักทั้งซีรีส์ เพลง และศิลปิน จนเกิดกระแสเกาหลีฟีเวอร์ในเมืองไทยไปพักหนึ่ง
       แต่เห็นจะต้องยกเว้นงานหัตถกรรมไทยไว้อย่างหนึ่ง เพราะล่าสุดประเทศไทยมีโอกาสได้ไปร่วมงานจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมนานาชาติที่ประเทศอิตาลี ทั้งหุ่นกระบอก หัวโขน ผ้าย้อมคราม การเขียนลายทอง ฯลฯ ได้ไปประกาศความงดงามของวัฒนธรรมไทยให้ฝรั่งได้รู้จักเพิ่มมากขึ้น ทีนี้ก็ต้องมาดูกันว่า เพราะอะไรชาวต่างชาติถึงชื่นชอบวัฒนธรรมไทย และงานหัตถกรรมแบบไทยๆ กันนัก แล้วในฐานะเจ้าของผลงานควรที่จะต้องปรับตัวอย่างไรกับกระแสความนิยมงานหัตถกรรมไทยที่เพิ่มมากขึ้น
       


       รุกก่อนได้เปรียบ
       
       ว่ากันว่า ที่เหล่าฝรั่งตาน้ำข้าวชื่นชอบในงานหัตถกรรมไทย เพราะงานมีจุดแข็งในเรื่องการใช้วัสดุธรรมชาติ กระบวนการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งกำลังเป็นกระแสความนิยมของทั้งโลก อย่างงานฝีมือประเภทผ้าทอ ซึ่งใช้วิธีการย้อมสีธรรมชาติ จะยิ่งดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติได้มาก และทำให้ขายออกได้ง่ายขึ้น
       แต่ถ้าพูดในแง่ของขั้นตอนการทำชิ้นงาน ฐิติมา ตันติพานิชย์ ผู้จัดการส่งออกร้านลายทอง บอกว่า งานหัตถกรรมไทยมีความละเอียดละออมาก การประดิษฐ์งานแต่ละชิ้นต้องอาศัยความอดทนสูง ทำให้งานหัตถกรรมไทยมีความคุ้มค่าแก่การซื้อไปเป็นของที่ระลึก เป็นของตกแต่งบ้านและตกแต่งร้าน แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ คือ การทำงานเชิงรุกของผู้ประกอบการ ที่ต้องเป็นฝ่ายนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของงานหัตถกรรมชิ้นนั้น แทนการรอให้เขาเข้ามาถาม


       
       “การที่ฝรั่งจะซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานหัตถกรรมไทยสักชิ้น เขาจะสนใจเรื่องราว หรือสตอรี ในตัวชิ้นงานนั้นมาก ฉะนั้น เมื่อหยิบงานขึ้นมาหนึ่งชิ้นต้องสามารถพรีเซนต์ได้ว่า งานชิ้นนี้ทำมาจากอะไร ได้ไอเดียมาอย่างไร วัสดุทำมาจากไหน มีความหมายอะไร เช่น ช้างเขียนลายทองชิ้นนี้ทำมาจากไม้ มีการลงยางรักกี่ครั้ง ทิ้งไว้นานเท่าไหร่ แล้วจึงนำมาเขียนลายโดยการใช้สีกรวย แล้วช้างเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงความโชคดี พอลูกค้าชาวต่างชาติฟังข้อมูลประมาณนี้ก็จะชอบและซื้อกลับไป ซึ่งง่ายกว่าการวางขายเฉยๆ โดยไม่พรีเซนต์อะไร”
       การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นับเป็นการปูทางไปสู่ความนิยมในตัวงานหัตถกรรมไทย อย่างการพาชมกระบวนการผลิต และอธิบายแต่ละขั้นตอนการทำ จะแสดงให้เห็นถึงความอดทนของช่างฝีมือ ที่ต้องอาศัยความละเอียดละออของงานหัตถกรรมไทย ความประทับใจจะบังเกิดขึ้นเป็นความชื่นชอบ หากมีการซื้อชิ้นงานกลับประเทศไปก็จะเกิดการบอกต่ออีกทอดหนึ่ง ทำให้งานหัตถกรรมไทยค่อนข้างเป็นที่ถูกใจและนิยมมากในต่างประเทศ
       


       เทคโนโลยีและภาษาช่วยได้
       
       อย่างที่บอก การให้ข้อมูลแก่ชาวต่างชาติเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น การใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นตัวเผยแพร่ข้อมูลงานหัตถกรรมไทยในยุคเทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งมีข้อมูลให้ค้นคว้ามากก็ยิ่งเป็นการเสนอภาพลักษณ์ความเป็นไทยให้เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือ ต้องนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ
       ฉะนั้น ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องเริ่มปรับตัวเองให้เข้ากับโลกสมัยใหม่มากขึ้น เว็บไซต์ของผู้ประกอบการงานหัตถกรรมหลายรายก็เริ่มมีการนำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว แม้แต่พนักงานหน้าร้านที่จะเสนอขายสินค้าก็ต้องมีการคัดเลือกอย่างจริงจังมากขึ้น จะมาไก่กาเฝ้าร้านขายของแบบส่งๆ อย่างเดียวไม่ได้แล้ว อย่างน้อยภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานต้องได้
        “พนักงานภายในร้านเราต้องคัดเลือกเป็นอย่างดี คือ ภาษาอังกฤษพื้นฐานต้องได้ แล้วนำมาฝึกเพิ่มให้ต่อ เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี พอมีพนักงานใหม่ๆเข้ามามากพอสมควรก็จะนัดอาจารย์ด้านภาษามาช่วยสอนให้ เขาก็จะพรีเซนต์สินค้าเป็นภาษาต่างประเทศได้” ฐิติมา ระบุ
       


       เปลี่ยนคู่ค้ามาเป็นพาร์ตเนอร์
       
       จะเห็นได้ว่างานหัตถกรรมไทยมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น นั่นก็เพื่อความอยู่รอดในสังคมที่เปิดกว้าง นอกจากการปรับตัวแล้ว นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผอ.ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) บอกว่า ถ้าอยากให้งานหัตถกรรมไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่เป็นการให้ความร่วมมือระหว่างกันมากกว่าที่จะแข่งขันกันเอง คือเปลี่ยนจากคู่แข่งให้เป็นพาร์ตเนอร์ เปลี่ยนให้เป็นเครือข่าย
      “หัตถกรรมไม่จำเป็นต้องมาแข่งกันขาย แต่ต้องช่วยกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ใครมีเทคนิคอะไรก็แบ่งปันกัน นอกจากนั้น ยังต้องให้ความรู้เรื่องการตลาด ซึ่งทาง ศ.ศ.ป.ก็พยายามเร่งทำอยู่ คือ ต้องให้ผู้ประกอบการแต่ละรายมองออกว่างานหัตถกรรมไทยจะเข้าตลาดแบบไหนได้บ้าง ช่องทางการตลาดต้องเหมาะกับผู้ประกอบการ โดยทางหน่วยงานรัฐจะช่วยด้วยการพยายามหางานให้ผู้ประกอบการได้เข้าไปแสดงสินค้า เพื่อระบายของและพรีเซนต์ผลิตภัณฑ์ พรีเซนต์ประเทศไทย"
       


       โหมโฆษณาเยอะๆ จะดังเอง
       
       นายปราชญ์ นิยมค้า เจ้าของร้าน Mann Craft บอกว่า งานหัตกรรมไทยต้องทำงานเชิงรุกเหมือนโฆษณาทางทีวี คือ ให้เขาเห็นบ่อยๆ เขาถึงจำได้ จนเผลอไปซื้อมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ต้องใช้หลักการโฆษณา หมั่นไปจัดแสดงสินค้า ขัดโรดโชว์ให้เห็นประจำทุกเดือนก็ยังดี หรืออาจทำวิดีโอขั้นตอนการทำงานหัตถกรรมประเภทต่างๆอย่างละเอียด แล้วอัปโหลดขึ้นยูทิวบ์ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยได้ หลายหน่วยงานราชการต้องช่วยกัน และจะทำให้ประเทศไทยมีจุดแข็งเพิ่มขึ้นอีกอย่าง นอกจากมวยไทย และอาหารไทย ที่สร้างชื่อเสียงนำร่องให้ประเทศไปแล้ว อาจจะต้องมีการลงทุน อาจจะต้องเหนื่อย แต่ก็คุ้มกับสิ่งที่ทำไป
       

                                                    ฐิติมา ตันติพานิชย์


       "อยากให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในด้านไหน ก็พยายามโฆษณาบ่อยๆ สุดท้ายเราก็ดังในด้านนั้นๆ อย่างงานหัตถกรรมไทยก็มีโอกาสสร้างชื่อให้ประเทศไทย แต่อยู่ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะเห็นหรือไม่ก็เท่านั้น”...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 16 พฤษภาคม 2555 13:15 น.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น