วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตะลึง...คนเป็นเห็นคนตาย ที่ศิริราช


                                                 

                                                         พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ คองดอน
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง


บางครั้งคนตายก็มีประโยชน์กว่าคนเป็นบางคน เพราะพวกเขาได้บริจาคร่างกายให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาเรียนรู้
       ดังนั้นในทริปนี้ฉันจึงมุ่งหน้าไปดูคนตายที่กลายเป็นครูให้นักศึกษาแพทย์ รวมถึงเราๆท่านๆได้ศึกษาเรียนรู้ และตื่นตะลึงไปกับความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ ที่ “พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ คองดอน” โรงพยาบาลศิริราช โดยมี คุณนันท์นภัส ปฐพีธนวิทย์ เจ้าหน้าที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เป็นผู้นำชมและบรรยายให้ฟัง


                                          ตู้แสดงอวัยวะรับสัมผัสพิเศษ


   คุณนันท์นภัสเล่าว่า ในสมัยช่วงแรกๆ ประมาณ พ.ศ.2466 ศิริราชได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยจัดการเรียนการสอนที่ศิริราชในหลากหลายสาขาวิชา หนึ่งในนั้นคือกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งทางมูลนิธิฯได้ส่งคนมาวางแผนสร้างตึก และต่อมาได้ส่ง ศาสตราจารย์ คองดอน (E.D. Congdon) มาเขียนตำรา เตรียมอุปกรณ์การสอน มาชำแหละอาจารย์ใหญ่ ส่วนต่างๆของร่างกายและระบายสีหลอดเลือดเส้นประสาทด้วยวิธี Albuminous paint ซึ่งสามารถเก็บในแอลกอฮอล์ และจัดห้องไว้สำหรับทำเป็นพิพิธภัณฑ์ และเปิดทำการอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2491


                                        ตู้แสดงระบบหลอดเลือดแดง กล้ามเนื้อและหลอดเลือดดำ และระบบประสาท


   นอกจากนี้คุณนันท์นภัสได้พูดถึงการเรียนกายวิภาคศาสตร์ว่า “เป็นการเรียนเรื่องการเป็นปกติของอวัยวะมนุษย์ เรียนเพื่อให้รู้ว่าอวัยวะนี้กำเนิดขึ้นมาจากไหน มีรูปพรรณสัณฐานที่ตั้งอย่างไร มีอวัยวะอะไรอยู่ใกล้ๆกัน เราจะเรียนให้รู้ว่าอวัยวะนี้เจริญมาจากเนื้อเยื้ออย่างไร พอเราเรียนแล้วรู้ว่าอวัยวะนี้เกิดขึ้นมาแบบนี้ พอโตขึ้นมามันจะอยู่ตรงไหน แล้วดูให้เห็นก่อนด้วยการชำแหละออกมาดู"
       “ต่อจากนั้นถ้าเราอยากรู้ว่าเนื้อเยื่อที่มาประกอบเป็นอวัยวะนี้มันเป็นลักษณะเซลล์อย่างไร เราก็เอาอวัยวะนั้นมาหั่น มาตัดให้บางด้วยมีด แล้วมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ให้เห็นความแตกต่างของเซลล์ด้วยการย้อมสี อีกอย่างคือดูว่าอวัยวะนั้นมีความสัมพันธ์กันกับอวัยวะข้างเคียงอย่างไร"



                                         ตู้จัดแสดงการเจริญเติบโตของทารก


 “นอกเหนือจากมันมีหลอดเลือด มีเส้นประสาทอะไรมาสนับสนุน ถ้าอวัยวะนี้มีความผิดปกติของการเจริญ เราต้องอธิบายให้ได้ว่าความผิดปกติเกิดที่ขั้นตอนใดของการเจริญเติบโต จะส่งผลอย่างไร เกิดความพิการแบบไหน ถ้าเกิดในระบบประสาท สมองส่วนนี้มีความผิดปกติมันจะสะท้อนท่าทางหรือลักษณะของร่างกายออกมาอย่างไร”
     เอาล่ะ เมื่อรู้พอสังเขปแล้วว่ากายวิภาคศาสตร์เขาเกี่ยวกับอะไรบ้าง ก็ได้เวลาเข้าไปเห็นของจริงภายในพิพิธภัณฑ์ฯ โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ห้อง ด้วยกัน ห้องแรกได้แก่ “ห้องกายวิภาคศาสตร์ทั่วไป” จัดแสดงระบบอวัยวะร่างกายของคนทุกระบบ จัดแสดงอวัยวะที่เป็นปกติ และความพิเศษหรือความหลากหลายทางกายวิภาคศาสตร์ ของที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของจริงที่ได้จากการบริจาค เป็นเต็มตัวก็มี ชิ้นส่วนอวัยวะก็มี


                                          การเจริญเติบโตตั้งแต่ในครรภ์จนคลอด
   
   แต่บางอย่างถ้าเล็กเกินไป เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ อวัยวะเล็กๆ เราจะศึกษาด้วยหุ่นจำลองก่อน อย่างหูชั้นในเป็นส่วนที่สำคัญ ส่วนก้นหอยเป็นส่วนของการรับเสียงการได้ยิน ส่วนที่เป็นท่อครึ่งวงกลม3ท่อเป็นส่วนของการทรงตัว ซึ่งมันเล็กมาก ดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น เราต้องศึกษาเป็น 3 มิติคู่กัน

    โดยตู้ที่จัดแสดงเริ่มตั้งแต่ ตู้แสดงเรื่องของ “อวัยวะรับสัมผัสพิเศษ” ได้แก่ พวกตา หู จมูก ลิ้น และตู้สุดท้ายของแถวแรกเป็นเรื่องของการแสดง “การเจริญเติบโตของใบหน้าและฟัน” เรื่องความผิดปกติของการเจริญบนใบหน้าพบบ่อยมาก ผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด เช่น พวกปากแหว่งเพดานโหว่


                                           แสดงหน้าที่ชำแหละและระบายสีให้เห็นกล้ามเนื้อ หลอดเลือดแดงดำ ประสาทกับต่อมน้ำลายและน้ำเหลือง

    ตู้แถวที่สองเป็นเรื่องของ “ระบบประสาท หัวใจ และหลอดเลือด” ตั้งแต่พัฒนาการของระบบสัตว์ ว่าพัฒนามาจากเนื้อเยื่ออะไร สัปดาห์ที่เท่านี้มีอะไรเกิดขึ้น แล้วท้ายที่สุดเจริญไปเป็นสมองทั้งก้อนอย่างไร แล้วสมองทั้งก้อนแบ่งพื้นที่อย่างไร เรียกว่าอะไรบ้าง เราใช้สัตว์มาใช้ในการเปรียบเทียบกับคน สัตว์ที่ใกล้เคียงกับคนเราคือสัตว์มีกระดูกสันหลัง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตรงส่วนนี้มีสมองของสัตว์มาให้ดูเปรียบเทียบกันด้วยได้แก่ กระต่าย แมว สุนัข ชะนี
   และที่พลาดไม่ได้คือ 3 ตู้ไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ ระบบหลอดเลือดแดงทั้งร่างกาย, กล้ามเนื้อและหลอดเลือดดำ และระบบประสาททั้งร่างกาย ซึ่งผลงานชิ้นเด่นๆนี้ถูกชำแหละโดย รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพทาย ศิริการุณ ซึ่งเป็นสิ่งแสดงทางกายวิภาคที่มีอยู่ชิ้นเดียวในโลกก็ว่าได้


                                                       แฝดแบบต่างๆ


   ต่อไปเป็นตู้จัดแสดง “การเจริญเติบโตของทารก” แสดงการเจริญเติบโตตามอายุตั้งแต่เอ็มบริโอ (Embryo) ขนาดเล็ก ทารกในครรภ์ จนถึงคลอด รวมถึงมดลูกและรก
    ถัดไปเป็น “โครงกระดูกของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร” อ.หมอสุดเป็นนักเรียนแพทย์ของศิริราช ท่านเรียนเก่งมากจนได้เป็นครูผู้ช่วยของ อ.คองดอน พอเรียนจบแล้วได้ไปเรียนต่อที่เมืองนอก โดยเรียนวิชาแพทย์และเรียนวิชาการทำสื่อการเรียนการสอน เรียนว่าโมเดลทำอย่างไร สไลด์ลูกไก่ทำอย่างไร


                                          ตู้แสดงร่างกายตัดขวางตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า


ต่อด้วย “ตู้เด็กที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด” ชนิดต่างๆ และเรื่องของ “ฝาแฝด” โดยฝาแฝดที่รู้จักกันมี 2 แบบ คือ แฝดที่มาจากไข่ใบเดียวกัน หรือแฝดแท้ มีโครโมโซมเหมือนกัน หน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน กับแฝดที่มาจากไข่คนละใบ โครโมโซมไม่เหมือนกัน หน้าตาไม่เหมือนกัน คนละเพศก็ได้ ถ้าตัวอ่อนเจริญช้า แยกออกจากกันช้า มีบางส่วนซ้อนทับกันอยู่ แม่จะได้ลูกอ่อนที่ตัวติดกัน ซึ่งติดกันได้ตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงก้น และมีแฝดสยามหรืออิน-จัน ด้วย


                                         ร่างกายตัดขวางหนาประมาณ 1 นิ้ว


   นอกจากนี้ยังมีตู้แสดงอวัยวะภายในร่างกายเรา ระบบหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบน้ำเหลือง ต่อมต่างๆ ตู้แสดงร่างกายตัดขวางตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า เพื่อดูอวัยวะที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ตัดหนาประมาณ 1 นิ้ว ดูว่าในแต่ละระดับที่ตัดผ่านอวัยวะอะไรบ้าง ซึ่งใช้ประโยชน์มากใน C.T. Scan ด้วย
    ส่วนอีกหนึ่งห้องที่อยู่ติดกันคือ “ห้องกระดูกและข้อ” แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับกระดูกทุกชิ้นของร่างกาย รวมทั้งกะโหลกซึ่งแยกเป็นชิ้นๆ แสดงส่วนประกอบของกระดูก การคาดคะเนอายุจากกระดูก แสดงกระดูกที่ผิดปกติเนื่องจากความผิดปกติของสารที่หลั่งจากต่อมไร้ท่อ แสดงข้อต่อชนิดต่างๆของร่างกาย


                                         แสดงกระดูกและข้อต่อ


   นอกจากนี้ยังมีโครงกระดูกของบุคคลสำคัญในวงการแพทย์แสดงอยู่ด้วย เช่น อาจารย์หมอโกศล กันตะบุตร, พระยาศราภัยพิพัฒ, พระยาอุปกิตศิลปสาร ซึ่งท่านเป็นผู้บริจาคร่างกายคนแรก เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของศิริราช ท่านเหล่านี้เมื่อก่อนใช้เรียนจริงๆ กระดูกอาจารย์ถูกจับถูกเรียนมาเยอะ เมื่อมีคนบริจาคเยอะขึ้น และอาจารย์เป็นบุคคลสำคัญ เราจึงเชิญอาจารย์มาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้


                                                       โครงกระดูกของบุคคลต่างๆที่มีความสำคัญในวงการแพทย์
   
   เมื่อชมพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ คองดอนเสร็จแล้ว ทำให้เรารู้จักร่างกายของเราเองมากขึ้นสมกับชื่อของพิพิธภัณฑ์โดยแท้ ใครที่สนใจก็สามารถมาชมมาเห็นของจริงๆด้วยตาตนเองได้ ซึ่งนอกจากนี้ศิริราชยังมีพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งด้วยกัน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน, พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส, พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา, พิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทย อวย เกตุสิงห์, พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร ซึ่งฉันขอเก็บไว้นำเสนอในครั้งต่อๆไป...
   “พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ คองดอน” ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 9.00-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม(ทั้ง 6 พิพิธภัณฑ์ของศิริราช) คนไทย 20 บ. ชาวต่างชาติ 40 บ. เด็ก, นักเรียน และภิกษุ ชมฟรี สอบถามโทร. 0-2419-6363


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 15 พฤษภาคม 2555 15:53 น.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น