วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชมพู่มะเหมี่ยว

   "ชมพู่" เป็นผลไม้ที่มีหลากหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ต่างก็มีรสชาติแตกต่างกันไป ทั้งด้านผลผลิตและราคา แต่ชมพู่ก็เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของเมืองไทยเป็นที่นิยมรับประทานกันทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ชมพู่ที่ขึ้นชื่อที่สุดอาจเป็นของจังหวัดเพชรบุรี ที่เรียกกันว่า "ชมพู่เพชร" แต่ที่จังหวัดสมุทรสงครามมีเกษตรกรปลูกชมพู่กันมากมายหลายพันธุ์เช่นกัน แต่ละพันธุ์ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้ชมพู่เมืองเพชรบุรี และที่เคยแนะนำไปแล้วคือชมพู่ "น้ำดอกไม้" ที่นับวันจะหายาก เพราะมีผู้นิยมปลูกกันน้อยมาก และยังเป็นของใหม่ในตลาดผลไม้ จึงมีการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกกันมากขึ้นตามปกติเกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงครามจะปลูกชมพู่เพียงเป็นพืชแซมเท่านั้น ไม่นิยมปลูกกันเป็นหน้าเป็นตา หรือเป็นล่ำเป็นสัน เนื่องจากชมพู่เป็นผลไม้ที่เก็บไว้ไม่คงทน เก็บวันขายวันทำนองนั้น

"มะเหมี่ยว" ของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นชมพู่พันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากของผู้บริโภคผลไม้โดยทั่วไป"ชมพู่มะเหมี่ยว" มีลักษณะผลคล้ายลูกแอปเปิ้ล และมีกลิ่นหอมคล้ายๆ กลิ่นดอกกุหลาบ ชาวต่างชาติจึงเรียกชมพู่มะเหมี่ยวว่า "โรสแอปเปิ้ล" ชมพู่มะเหมี่ยวมีรสชาติหวานอร่อย เนื้อนุ่ม น่ารับประทานจึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และที่สำคัญ ชมพู่มะเหมี่ยวมีแห่งเดียวที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น




นายวิเชียร ตันติรักษ์ อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่24 หมู่ 2 ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามกับนายสนธยา ตันติรักษ์ อายุ 42 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่2 ตำบลสวนหลวง 2 พ่อลูกซึ่งประสบความสำเร็จในการปลูกชมพู่มะเหมี่ยว โดยเริ่มแรกปลูกไว้ดูเล่นหน้าบ้านและไว้รับประทานเองเพียง 2 ต้นเท่านั้น แต่ให้ผลดกจึงเก็บไปขายที่ตลาด ปรากฏว่ามีผู้ติดใจรสชาติ จนเป็นที่ต้องการของท้องตลาด และขายได้ราคาดี จึงขยายพันธุ์และพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นเป็น 3 ไร่เศษๆ ประมาณ 120 ต้น ในขณะนี้มีรายได้จากชมพู่มะเหมี่ยวประมาณปีละ 1 แสนกว่าบาท โดยชมพู่มะเหมี่ยวออกผลผลิตปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงเดือนธันวาคม และมกราคม


ผู้ใหญ่สนธยา กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีการปลูกชมพู่มะเหมี่ยวของเกษตรกรในแถบนี้ ยังไม่เป็นล่ำเป็นสันนัก เนื่องจากขาดความรู้ความชำนาญในเรื่องการดูแล และการรักษา อีกทั้งราคาชมพู่มะเหมี่ยวไม่ดีเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันแนวโน้มทางด้านราคาดีขึ้นมาก จึงมีเกษตรกรหันมาปลูกชมพู่มะเหมี่ยวกันมากขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกชมพู่มะเหมี่ยวในจังหวัดสมุทรสงครามประมาณ 100 กว่าราย ถือว่าเป็นผลไม้หลักของจังหวัดสมุทรสงคราม รองมาจากส้มโอและลิ้นจี่ แต่ที่น่าเสียดายชมพู่มะเหมี่ยวมักติดดอกออกผลไม่ดกเหมือนชมพู่พันธุ์ธรรมดา กิ่งหนึ่งจะติดลูกประมาณ1-3 ลูกเท่านั้น แต่ลำต้นใหญ่ จึงใช้พื้นที่มากในการเพาะปลูกกว่าพืชชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นพืชแซม ในสวนลิ้นจี่และส้มโอ เป็นต้น
   วิธีการเพาะปลูกชมพู่มะเหมี่ยวนั้น มีด้วยกันหลายวิธี เริ่มแรกขยายพันธุ์ด้วยการใช้การเพาะเมล็ดในถุงพลาสติก ซึ่งมีขุยมะพร้าวและปุ๋ยคอกผสมอยู่ด้วย รดน้ำทุกวัน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ข้อเสียคือ เมื่อโตขึ้นลำต้นจะสูง ให้ผลผลิตช้า และที่สำคัญคือกลายพันธุ์ได้ง่าย จึงหันมาใช้วิธีทาบกิ่งแทน ซึ่งปรากฏว่าได้ผลผลิตดีกว่าวิธีแรก เนื่องจากการทาบกิ่งพันธุ์เป็นการช่วยเสริมความแข็งแรงของราก และการเจริญเติบโตของลำต้นก่อนนำไปปลูกได้ดี ยังเป็นการย่นระยะเวลาในการเลี้ยงต้นพันธุ์ และต้นของชมพู่มะเหมี่ยวก็ยังเป็นพุ่มสวยงาม ต้นกล้าที่ได้จากการทาบกิ่งเมื่ออายุได้ 6 เดือนก็สามารถย้ายไปปลูกได้เลย ต่อจากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการดูแลรักษาซึ่งก็ไม่ยุ่งยากมากนัก เพียงแต่รดน้ำวันเว้นวัน และให้ปุ๋ยตามความจำเป็น คือให้ปุ๋ยสูตรเสมอ15-15-15 ช่วงก่อนออกดอก ส่วนในช่วงให้ผลผลิตต้องใช้สูตร 13-13-21


ชมพู่มะเหมี่ยวจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3-5 ปี ในระยะแรกจะให้ผลผลิตประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อ1 ต้น เมื่อลำต้นมีอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป ก็จะให้ผลผลิตประมาณ 60-80 กิโลกรัมต่อ 1 ต้นและต่อ1 ปี แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและดินฟ้าอากาศด้วย ส่วนเรื่องการป้องกันและการกำจัดศัตรูพืชในชมพู่มะเหมี่ยว ศัตรูที่สำคัญของชมพู่มะเหมี่ยวคือหนอนที่ชอบเจาะเข้าไปทำลายลำต้น ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยหลาวไม้ทำเป็นลิ่มตอกอัดเข้าไปตรงรูที่หนอนเจาะ หนอนจะตายไปเอง ส่วนหนอนด้วงที่กัดกินใบ ที่ชอบระบาดในหน้าหนาว ควรใช้สารเคมีจำพวก "เมตโธมิล" หรือ "แลนเนต" ผสมกับสารป้องกันเชื้อรา ฉีดพ่นในช่วงชมพู่มะเหมี่ยวเริ่มติดผลเท่านั้น ซึ่งจะไม่เกิน 3 ครั้งต่อ 1 ปี แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่ควรฉีดพ่นสารเคมีใดๆ ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อหลีกเลี่ยงการตกค้างของสารเคมี อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้


ช่วงเวลาการติดดอกถึงดอกบานของชมพู่มะเหมี่ยว ใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน ช่วงติดผลอ่อนจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาประมาณ 60 วันเมื่อผลชมพู่เริ่มโตประมาณหัวนิ้วมือและมีสีแดงออกเรื่อๆ เกษตรกรจะเริ่มใช้ถุงพลาสติกชนิดมีหูหิ้วขนาด 8 คูณ 10 นิ้ว ห่อผลชมพู่ เมื่อผลชมพู่มะเหมี่ยวแก่ได้ที่ก็จะออกสีแดงเข้ม และส่งกลิ่นหอมแสดงว่าพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะต้องระวังในการเก็บเกี่ยวเป็นพิเศษ ไม่ให้ผลช้ำเพราะชมพู่มะเหมี่ยวเป็นผลไม้ที่มีผิวเปลือกบาง และมีอายุในการขายค่อนข้างสั้น หลังจากเก็บเกี่ยวมาแล้วก็จะนำมาบรรจุในเข่งที่มีความหนาเป็นพิเศษบุด้วยใบตองทุกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผลชมพู่กระทบกัน ซึ่งจะเป็นการง่ายในการส่งไปจำหน่ายราคาขายส่งอยู่ในระหว่างกิโลกรัมละ 50-70 บาทส่วนทางด้านการตลาดมีจำหน่ายแน่นอนที่ตลาดแม่กลอง สมุทรสงคราม และที่ตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี ตลาดสี่มุมเมือง กทม. และตลาดผลไม้ทั่วๆไป ในราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท
   ผู้ใหญ่สนธยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ชมพู่มะเหมี่ยวเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรน่าจับตามอง เพราะไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านรูปลักษณ์ สีสันขนาดของผล รสชาติที่หอมหวาน และอร่อยแล้วแนวโน้มทางการตลาดของชมพู่มะเหมี่ยวก็มีทีท่าว่าจะสดใสไม่แพ้ผลไม้เลื่องชื่ออย่างอื่นของจังหวัดสมุทรสงคราม เช่น ลิ้นจี่ ส้มโอ ส้มแก้ว และมะพร้าวน้ำหอม ถ้าหากใครสนใจอยากจะขอคำแนะนำในการปลูกชมพู่มะเหมี่ยว ยินดีให้คำแนะนำอย่างเต็มที่ ตามที่อยู่ดังนี้ 24 หมู่ 2 ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โทรศัพท์034-715-583 และ 08-9224-0084
                                          ยำเกสรดอกชมพู่ 

1. ชื่อ ชมพู่มะเหมี่ยว
2. ชื่ออื่น ชมพู่สาแหรก ม่าเหมี่ยว ชมพู่แดง ชมพู่ม่าเหมี่ยว
3. ชื่อวิทยาศาสตร์ Eugenia malaccensis Linn.
4. วงศ์ MYRTACEAE
5. ชื่อสามัญ Pomerac, Malay Apple
6. แหล่งที่พบ ทุกภาค
7.ประเภทไม้ ไม้ยืนต้น
8.ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 
         ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางแผ่กิ่งก้านสาขามาก สูง
6-15 เมตร ลำต้นมีเปลือกสีน้ำตาลอ่อนผิวเรียบเป็นไม้ผล
ปลูกตามบ้านหรือปลูกในสวนไม้ผล
         ใบ  ใบเดี่ยวเรียงตัวแบบตรงข้างสลับกันเป็นคู่ๆ 
(decussate) ใบอ่อนสีชมพูใบแก่ขนาดใหญ่รูปร่างมน ใบ รูปรีปลายใบแหลมฐานใบมนขอบใบเรียบ ขนาดกว้าง 8-12
ซม. ยาว 15-25 ซม. เนื้อใบหนาผิวใบเป็นมันใบแก่สีเขียวเข้ม ท้องใบจะเห็นเส้นกลางใบ 20-26 คู่ ปลายเส้นแขนงใบจะจดกันก่อนถึงขอบใบ


         ดอก  ดอกช่อแบบ cyme ประกอบด้วยดอก 3-5 
ดอก ออกตามกิ่งที่มีขนาดใหญ่ (cauliferous) ดอกมี ขนาดใหญ่สีชมพูเข้มหรือสีแดง มีเกสรตัวผู้และก้านชูเกสรเป็น สีชมพูเด่นชัด ติดอยู่โดยรอบที่ขอบของฐานรองดอกจะอยู่ แยกกัน ขนาดยาว 4-5 ซม. เกสรตัวเมียมีรังไข่ฝังอยู่ใน ฐานรองดอกตรงกลาง (inferior overy) มี 2-3locules
         ผล  ผลอ่อนนุ่มแบบ berry ส่วนของผลมีชั้น
ของกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ด้านขั่วของผล (calyx persistant และ stigma persistant)
9.ส่วนที่ใช้บริโภค ยอด ผลสุก (เนื้อหุ้มเมล็ด) เกสรตัวผู้
10.การขยายพันธุ์ เมล็ด กิ่งตอน
11.สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม บริเวณสวนที่มีความชุ่มชื้นตามสวนริมน้ำ
12.ฤดูกาลที่ใช้ประโยชน์ ออกดอกระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
13.คุณค่าทางอาหาร คุณค่าทางอาหารของผลชมพู่มะเหมี่ยวในส่วนที่กินได้ 100 กรัม และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายประกอบด้วย
Cal 28 Unit
Moist ure 91.7 %
Protein 0.3 Gm.
Fat 0.1 Gm.
CHO 6.5 Gm.
Fibre 1 Gm.
Ash . 0.4 Gm
Ca 2 mg.
P 8 mg.
Fe 0.6 mg.
A.I.U 108
B1 0.01 mg.
B2 0.04 mg.
Niacin 0.3 mg.
C 20 mg.
14.การปรุงอาหาร เกสรตัวผู้นำมายำ ยอดใช้รับประทานเป็นผักสด ผลสุก รับประทานได้เป็นผลไม้ รสหวานอมเปรี้ยว
15.ลักษณะพิเศษ ราก แก้คัน แก้ไข้ แก้บิด ขับปัสสาวะ เปลือกราก ขับประจำเดือน ใบ แก้บิด





ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.ryt9.com
www.bloggang.com
ภาพจาก Internet

1 ความคิดเห็น: